“โอไมครอนแพร่เชื้อเร็วกว่า 2-5 เท่า อาการคล้ายไข้หวัด แต่ความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น” การสื่อสารของกรมควบคุมโรคเกี่ยวกับสายพันธุ์โอไมครอนในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่อนข้างมองโลกในแง่ดี โดยเน้นย้ำในการแถลงข่าวผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนรายแรกในประเทศเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ว่า “ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโอไมครอนเสียชีวิต” ทำให้ความตื่นตระหนกของประชาชนลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ขณะเดียวกันนักวิชาการบางท่านยังคาดการณ์ว่า สายพันธุ์โอไมครอนจะเปรียบเสมือน ‘วัคซีนชนิดเชื้อเป็น’ เพราะในการผลิตวัคซีนชนิดเชื้อเป็นจะต้องทำให้ไวรัสอ่อนฤทธิ์ลงก่อน แต่สายพันธุ์นี้กลับอ่อนฤทธิ์ลงตามธรรมชาติ และแพร่ระบาดได้เร็วขึ้นจนอาจแทนที่สายพันธุ์เดลตาในที่สุด ทว่า ข้อมูลอะไรที่บอกว่าสายพันธุ์นี้มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น หรือ ‘ยังเร็วเกินไปที่จะสรุป’
ข้อมูลแรกที่ระบุว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนมีอาการไม่รุนแรงมาจาก พญ.แอนเจลีก โคเอตซี ประธานแพทยสมาคมแห่งแอฟริกาใต้ (South African Medical Association) ที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ว่า ในวันที่ 18 พฤศจิกายน เธอสังเกตว่าผู้ป่วยจำนวนหนึ่งรายที่มารักษาที่คลินิกของเธอมีอาการ ‘น้อยมาก’ ซึ่งต่างจากสายพันธุ์เดลตา
ผู้ป่วยรายแรกมาพบเธอด้วยอาการอ่อนเพลียมากมา 2 วัน ปวดศีรษะและปวดตามตัว ซึ่งคล้ายกับการติดเชื้อไวรัสทั่วไป เนื่องจากไม่พบผู้ป่วยโควิดมา 8-9 สัปดาห์แล้ว เธอจึงตัดสินใจตรวจหาเชื้อเลยพบว่า เขาและคนอื่นในครอบครัวมีผลการตรวจเป็นบวก ในวันเดียวกันก็มีผู้ป่วยเข้ามาตรวจเพิ่มอีกด้วยอาการคล้ายกัน เธอรับรู้ว่ามีบางอย่างที่ผิดปกติและแจ้งให้ทางการทราบ
“ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการน้อยมากๆ และยังไม่มีใครต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล เราสามารถรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ได้ที่บ้าน” เธอกล่าว โดยจากประสบการณ์ของเธอ ผู้ติดเชื้อโอไมครอนส่วนใหญ่อายุน้อยกว่า 40 ปี และครึ่งหนึ่งไม่ได้รับการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม เธอได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Telegraph เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ว่าสิ่งที่เธอกังวลคือ ถ้าผู้สูงอายุติดเชื้อสายพันธุ์นี้อาจมีอาการรุนแรงได้
ถ้าอ่านข่าวนี้เพียงข่าวเดียวยังไม่ควรสรุปว่าสายพันธุ์โอไมครอนมีความรุนแรงลดลง เพราะเป็นข้อมูลจากแพทย์เพียงท่านเดียว และเป็นข้อมูลจากคลินิกเอกชน ซึ่งจำนวนกลุ่มตัวอย่างน้อย และผู้ป่วยที่ไปรักษาที่คลินิกน่าจะเป็นกลุ่มที่มีอาการไม่หนักอยู่แล้ว (ส่วนผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการหนักมักไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล) นอกจากนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังเป็นวัยที่มีความเสี่ยงต่ำต่ออาการรุนแรง